วิธีตั้งราคาสินค้า ตั้งอย่างไรให้ได้ใจลูกค้าและไม่ขาดทุน

วิธีตั้งราคาสินค้า ตั้งอย่างไรให้ได้ใจลูกค้าและไม่ขาดทุน

วิธีตั้งราคาสินค้า ตั้งยังไงไม่ให้ขาดทุน ศาสตร์ของการตั้งราคาเป็นหนึ่งในกลยุทธ์การขายที่สำคัญมาตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน แต่สำหรับเจ้าของแบรนด์มือใหม่อาจจะยังไม่รู้ว่าควรตั้งราคาสินค้าอย่างไรดีให้ดึงดูดความสนใจของลูกค้า แต่ไม่เข้าเนื้อตนเองมากเกินไป ซึ่งเราก็ได้รวบรวมเทคนิคการตั้งราคาสินค้า จำนวน 5 วิธีมาเป็นแนวทางให้คุณได้เลือกใช้เพื่อเพิ่มยอดขายโดนไม่เสี่ยงต่อการขาดทุน พร้อมแล้วมาดูกัน

คุณอาจสนใจบทความนี้ อ่านเลย สร้างแบรนด์ครีม ด้วย 5 สารสกัดมาแรงก่อนใคร ตอบโจทย์ได้ทุกงานผิว

1.ลงท้ายด้วยเลข ‘9’ ช่วยได้เสมอ

นอกจากเลข 9 จะเป็นเลขมงคลที่หลายคนที่ถือเคล็ดให้ความสำคัญแล้ว เลข 9 ยังเหมาะแก่การใช้ตั้งราคาสินค้าอีกด้วย ทั้งๆ ที่จำนวนเงินต่างกันเพียงแค่บาทเดียว แต่กลับให้ความรู้สึกแตกต่างกัน ยกตัวอย่างเช่น หากคุณต้องการตั้งราคาขายครีมทาผิวกระปุกละ 200 บาท ราคานี้อาจดึงดูดความสนใจของคนได้น้อยกว่าการตั้งราคา 199 บาท อย่างเห็นได้ชัด แม้ว่าราคาจะต่างกันไม่มาก แต่ราคาที่ลงท้ายด้วยเลข 9 มีผลทางจิตวิทยาต่อผู้คนที่สัญจรผ่านไป-มามากกว่า เนื่องจากพวกเขาจะคิดว่าสินค้าที่ตั้งราคา 199 บาทถูกกว่านั่นเอง รายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ แค่นี้มีผลต่อการกระตุ้นยอดขายมากทีเดียว ฉะนั้น หากคุณเปิดบูทขายครีม ขอแนะนำให้ทำป้ายใหญ่ๆ สำหรับบอกราคาวางในบนตำแหน่งที่เห็นได้ชัด โดยตั้งราคาที่ลงท้ายด้วยเลข 9 และอาจเพิ่มเติมข้อความไป เช่น “ลดราคาสุดๆ” หรือ “วันนี้วันเดียว” เพียงเท่านี้ก็จะสอดคล้องกับหลักการตลาดอย่าง AIDA ที่สามารถสร้าง A-Attention หรือความสนใจจากลูกค้าได้จากการตั้งราคานั่นเอง

วิธีตั้งราคาสินค้า

2.ตั้งราคาแบบแพ็คเกจ

การขายสินค้าแบบแพ็คคู่หรือการรวมสินค้าที่ขายดีกับขายไม่ค่อยออกเข้าด้วยกันโดยตั้งราคาล่อใจ เป็นหนึ่งในกลยุทธ์การขายที่ใช้มาอย่างเนิ่นนาน ยกตัวอย่างเช่น หากคุณทำธุรกิจเกี่ยวกับครีมบำรุงผิวและครีมกันแดด หากพบว่าครีมบำรุงผิวทำยอดขายได้ดีกว่า ขณะที่ครีมกันแดดขายไม่ค่อยดี คุณอาจจะใช้วิธีการจัดโปรโมชั่นนำสินค้าทั้งสองรายการมาขายคู่กันเป็นแพ็คเกจ โดยอาจจะไม่จำเป็นต้องลดราคาสินค้าทั้งสองรายการก็ได้ แต่นำเสนอสินค้าทั้งคู่ว่าซื้อแบบแพ็คเกจถูกและคุ้มค่ามากกว่าการซื้อแยก กลยุทธ์การขายแบบนี้จะช่วยให้คุณสามารถขายของได้จนหมด โดยไม่จำเป็นต้องเก็บสินค้าค้างสต็อกไว้นั่นเอง โดยเฉพาะครีมบางชนิดที่มีอายุการใช้งานที่จำกัด หากขายออกไม่ทันวันหมดอายุก็เท่ากับว่าเสียของไปโดยเปล่าประโยชน์

3.ตั้งราคาแบบส่วนลด

ส่วนลดหรือโปรโมชั่นเป็นกลยุทธ์ในการเพิ่มยอดขายที่ช่วยได้เสมอ ทั้งนี้ เจ้าของแบรนด์อาจเลือกออกโปรโมชั่นในช่วงเวลาที่กำลังซื้อของกลุ่มเป้าหมายมีสูง โดยเฉพาะช่วงเวลาเงินเดือนออกหรือช่วงเทศกาลต่างๆ ซึ่งจะช่วยให้ลูกค้ารู้สึกว่าตนเองสามารถซื้อสินค้าได้ในราคาที่ต่ำลง ในกรณีของครีม แบรนด์จำนวนมากนิยมนำครีมที่ใกล้วันหมดอายุมาลดราคาขาย ซึ่งก็เป็นหนึ่งในวิธีการที่น่าสนใจ เพราะลูกค้าสามารถซื้อครีมคุณภาพได้ในราคาที่ถูกลง หากวางแผนการใช้งานจนหมดก่อนหน้าวันหมดอายุ ก็เรียกได้ว่าเป็นการตั้งราคาที่ Win-Win กันทั้งสองฝ่าย ทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย นอกจากนั้น การตั้งราคาแบบส่วนลดยังช่วยดึงดูดความสนใจของกลุ่มเป้าหมายได้เป็นอย่างดี ดังนั้น ในการขายแบบออฟไลน์ เจ้าของแบรนด์ควรที่จะทำป้ายให้เห็นได้ชัดว่าราคาสินค้าดังกล่าวเป็นราคาที่ผ่านการลดแล้ว หรือในกรณีออนไลน์ก็อาจใช้ตัวอักษรสีแดงที่เห็นได้อย่างชัดเจนว่าสินค้าดังกล่าวเป็นสินค้าลดราคา และมีจำนวนจำกัด หากไม่ซื้อตอนนี้สินค้าลดราคาอาจจะหมดได้ อันเป็นกลยุทธ์ที่ดีในการกระตุ้นยอดขายในเวลาอันสั้น

วิธีตั้งราคาสินค้า ให้ได้ใจลูกค้า

4.สร้างความรู้สึกคุ้มค่า

ลูกค้าส่วนใหญ่จะพร้อมใจกันซื้อสินค้าที่ทำให้พวกเขารู้สึกว่าเป็นการใช้จ่ายเงินที่คุ้มค่า การสร้างความรู้สึกคุ้มค่าจึงเป็นโจทย์ใหญ่ของเจ้าของแบรนด์ทุกชนิด ซึ่งการสร้างความรู้สึกดังกล่าวมีอยู่หลากหลายวิธีการด้วยกัน เช่น การจัดโปรโมชั่น มอบส่วนลด การจัดแพ็คเกจสินค้าประเภทต่างๆ ตลอดจนการใช้การเล่าเรื่อง (storytelling) ให้เกิดประโยชน์ อย่างเช่น การบอกเล่าที่มาที่ไปของสินค้าดังกล่าว กระบวนการผลิตมีความยากง่าย วัตถุดิบหลักของสินค้าหามาอย่างไร เรื่องราว (story) เหล่านี้จะช่วยให้ลูกค้ารู้สึกว่าเงินในกระเป๋าที่พวกเขาจะจ่ายเพื่อแลกกับสินค้าดังกล่าวนั้นมีความคุ้มค่า เมื่อพิจารณาจากคุณภาพและความซับซ้อนกว่าจะได้มาของผลิตภัณฑ์ดังกล่าว อย่างไรก็ตาม การอธิบายเรื่องราวของสินค้าควรอยู่บนพื้นฐานของความจริง ไม่ควรใส่เรื่องที่เกินจริงมากเกินไป มิฉะนั้น อาจเข้าข่ายหลอกลวงผู้บริโภคได้เช่นกัน

5.ตั้งราคาให้ง่ายๆ เข้าไว้

หลักคิด Less is more สามารถใช้ได้กับทุกกระบวนการสร้างแบรนด์ รวมถึงการตั้งราคาด้วยเช่นกัน ที่เป็นเช่นนี้เพื่อให้สะดวกต่อการคำนวณค่าใช้จ่ายและการทอนเงิน ด้วยเหตุนี้ เราจึงไม่ค่อยเห็นสินค้าใดที่ตั้งราคาขายแบบแปลกพิสดาร เช่น ครีมกระปุกละ 666 บาท หรือก๋วยเตี๋ยวชามละ 34 บาท ตัวอย่างของการตั้งราคาสินค้าให้ง่ายๆ คือการตั้งราคาให้ลงท้ายด้วยเลข 5 ซึ่งสามารถทำให้คำนวณราคารวมได้อย่างรวดเร็ว เช่น ขนมโตเกียวขายชิ้นละ 5 บาท 2 ชิ้น 10 บาท หากแม่ค้าตั้งราคาขายที่ 10 ชิ้น 45 บาท ก็มีความเป็นไปได้สูงที่ลูกค้าจะเลือกซื้อ 10 ชิ้นมากกว่า 2-3 ชิ้น เพราะไม่ต้องเสียเวลาในการรับเงินมากนัก แถมยังได้ขนมโตเกียวมาทานมากขึ้นในราคาที่ถูกลง เทคนิคการตั้งราคาให้ง่ายเข้าให้ จึงเป็นหนึ่งในเทคนิคสร้างแรงจูงใจในการซื้อแก่ลูกค้านั่นเอง

คุณอาจสนใจบทความนี้ อ่านเลย สร้างแบรนด์ครีม ครีมกันแดด อาหารเสริม เครื่องสำอาง ขายช่องทางไหน ดีที่สุด 

เทคนิคในการเพิ่มยอดขายสินค้า มีอยู่ด้วยกันหลากหลายวิธีด้วยกัน โดยเทคนิคการตั้งราคาเพื่อดึงดูดความสนใจของลูกค้าก็เป็นหนึ่งในเทคนิคที่มีการใช้มาอย่างเนิ่นนานและมีประสิทธิภาพ หากคุณลองนำวิธีการตั้งราคาที่บทความนี้แนะนำไปประยุกต์ใช้ในการทำการตลาด ก็เชื่อว่าจะสามารถช่วยกระตุ้นยอดขายได้ไม่มากก็น้อย

Last Updated on by

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save